แม้อังกฤษจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอันดับที่ 15 จากการจัดอันดับของ The Economist Intelligence Unit แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้อง ๆ ที่มาเรียนต่ออังกฤษจะชะล่าใจหรือประมาทได้ เพราะความจริงแล้วไม่มีที่ไหนในโลกที่ปลอดภัย 100% และไม่มีที่ไหนในโลกที่ผู้คนจะไนซ์ 100% จากความจริงข้อนี้ Peyton & Charmed จึงอยากชวนนักเรียนอังกฤษตระหนักถึงการดูแลตัวเองจากเหตุอันตรายในอังกฤษที่อาจเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของโจรหรือมิจฉาชีพที่อังกฤษและสามารถใช้ชีวิตในอังกฤษได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
10 อันดับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยในอังกฤษปี 2022-2023
จากการเช็กสถิติอาชญากรรมผ่านเว็บไซต์ Metropolitan Police ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติของอังกฤษที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอังกฤษและลอนดอนได้ ไปดูกันว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ปี 2022 - 2023) เหตุไหนที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด 10 อันดับ
อันดับ 1 การลักขโมย (Theft) เช่น ขโมยของ งัดแงะรถยนต์ ฯลฯ
อันดับที่ 2 การใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น (Violence against the person) เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนบาดเจ็บ พกอาวุธ คุกคามผู้อื่น ฯลฯ
อันดับที่ 3 การโจรกรรมยานยนต์ (Vehicle Offences) เช่น ขโมยรถยนต์ ขโมยจักรยาน ฯลฯ
อันดับที่ 4 ทำลายระเบียบของสังคม (Public order offences) เช่น เมาสุราในที่สาธารณะ ก่อกวน ฯลฯ
อันดับที่ 5 การบุกรุกสถานที่เพื่อลักทรัพย์ (Burglary) เช่น งัดเข้าบ้าน อาคาร การย่องเบา ฯลฯ
อันดับที่ 6 ทำลายทรัพย์สินหรือทำให้เสียหาย (Arson and criminal damage) เช่น วางเพลิง ความเสียหายต่อที่อยู่อาศัย อาคาร ยานยนต์ ฯลฯ
อันดับที่ 7 ยาเสพติดผิดกฎหมาย (Drug offences)
อันดับที่ 8 การใช้กำลังปล้น (Robbery) เช่น การปล้น จี้ปล้น ขโมยทรัพย์สินทางธุรกิจ ปล้นร้านค้า ทรัพย์สินส่วนบุคคล
อันดับที่ 9 การกระทำผิดทางเพศ (Sexual offences) เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน ฯลฯ
อันดับที่ 10 อื่น ๆ (Miscellaneous crimes against society)
จากสถิติข้างต้นน้อง ๆ จะเห็นว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นอันตรายที่ใกล้ตัวมาก ๆ สร้างความไม่ปลอดภัยให้ทั้งแก่ตัวเอง ต่อทรัพย์สินและที่พักอาศัย หากไม่ตระหนักรู้ล่วงหน้า เมื่อเกิดขึ้นกับตัวอาจทำให้รับมือได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไปดูกันว่านักศึกษาที่จะมาเรียนต่ออังกฤษจะต้องรับมืออย่างไรเพื่อความปลอดภัยของตัวเองตลอดการเรียนต่อต่างประเทศ
ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย
Personal Satety
อังกฤษเป็นประเทศที่ปลอดภัยก็จริง แต่การมาเรียนต่อในลอนดอนที่เป็นเมืองท่องเที่ยวย่อมมีความเสี่ยงเสมอ โดยความเสี่ยงที่น้อง ๆ ต้องระวังตัวเอง เช่น ถูกทำร้ายร่างกายได้ ถูกตาม (Stalking) คุกคาม (Harassment) ปล้นจี้หรือถูกก่อกวนในที่สาธารณะซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่ยากจะรับมือ ไปดูกันว่าเราจะรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไรหากเกิดขึ้นกับตัวเอง
- รู้จักสังเกตสถานการณ์รอบตัว มีสติอยู่เสมอ เช็กสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ว่าปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้โทรศัพท์มือถือ กดเงินจากตู้ ATM ยิ่งต้องมองหน้ามองหลัง และเมื่อต้องเดินทางในยามวิกาลในลอนดอนให้เลี่ยงการเดินทางคนเดียว ไปใช้เส้นทางที่มีคนพลุกพล่านจะดีกว่า
- วางแผนล่วงหน้าเสมอ ใช้แอป Citymapper วางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อเลี่ยงการหลงทางหรือพฤติกรรมงก ๆ เงิ่น ๆ ที่อาจทำให้ตัวเองตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ หากต้องใช้บริการ Taxi ก็ให้ใช้ Taxi ที่ถูกกฎหมาย หรือเรียก Uber แทน
- อย่าดื่มจนขาดสติ สายปาร์ตี้ต้องรู้จักลิมิตตัวเอง ดื่มได้แค่ไหนแค่นั้นเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่มีสติ อันตรายทุกรูปแบบสามารถเกิดขึ้นได้หมด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในย่านผับบาร์อย่าง Soho หรือ Camden แม้เราจะมีสติก็อาจเจอคนมาก่อกวนเพราะเหตุเมาสุราในที่สาธารณะได้
หากตกอยู่ในเหตุการณ์แล้วต้องทำอย่างไร ?
หากน้อง ๆ คนไหนรู้สึกว่ากำลังโดนตาม คุกคามหรือไม่ปลอดภัยเนื่องจากมีคนจะเข้ามาทำร้ายหรือก่อกวนให้มองหาทางหนีทีไล่ก่อนเป็นอันดับแรก หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือต่อสู้ พยายามหนีออกให้ห่าง และขอความช่วยเหลือและโทร 999 หากถูกทำร้ายร่างกาย และโทร 101 หากถูกตามหรือคุกคาม
ปล. โทรเบอร์ 999 ที่อังกฤษจะหมายถึง Emergency call แจ้งเหตุด่วน เหตุร้ายแรง ส่วนโทรเบอร์ 101 จะหมายถึง Non-emergencies call เเจ้งแหตุที่ไม่ด่วน ไม่ร้ายแรงมาก
ปกป้องทรัพย์สินของตัวเอง
Protect Your Property
3 สิ่งที่นักเรียนอังกฤษมักถูกขโมยมากที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือ, แล็ปท็อปและยานพาหนะ ซึ่งโจรมักจะใช้วิธี ‘Snatches’ คือการขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์คันเล็ก ๆ ตระเวนหาเหยื่อ เมื่อสบโอกาสก็จะฉกมือถือไปภายในไม่กี่วินาทีแล้วขับรถหายวับไป โดยเฉพาะในย่าน London, Bloomsbury และ Manchester ที่มีสถิติการล้วงกระเป๋า (Pickpockets) สูงขึ้นทุกปี หากน้อง ๆ อยากรู้เรื่องย่านอันตรายในอังกฤษ พี่ ๆ Peyton & Charmed ยินดีให้คำปรึกษา
- อย่าปล่อยให้ของมีค่าคลาดสายตา เช่น โทรศัพท์, iPad, แท็บเล็ต, กระเป๋าตังค์, กล้องถ่ายรูปหรือแล็ปท็อปเพราะโจรมือไวสามารถหยิบไปได้ภายในไม่กี่วินาที ทางที่ดีควรมองซ้ายมองขวาก่อนจะใช้ อย่ามัวแต่เล่นมือถือเพลิน เมื่อใช้เสร็จแล้วให้เก็บให้มิดชิด แม้แต่การทิ้งของมีค่าไว้ในรถยนต์ก็ไม่ควรทำ มิจชาชีพในอังกฤษชอบงัดแงะ ทุบรถมาก
- อย่าเก็บของมีค่าไว้ในตำแหน่งที่หยิบฉวยได้ง่าย เช่น กุญแจห้องพัก โทรศัพท์มือถือหรือว่าแล็ปท็อปไว้ในกระเป๋าเป้ สะพายหลังโดยเฉพาะเมื่อต้องใช้รถสาธารณะเช่น ทูบ บัสหรือรถไฟเพราะโจรขโมยอาจล้วงกระเป๋า กรีดกระเป๋าเพื่อเอาของมีค่าไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ทางที่ดีเก็บของมีค่าให้มิดชิดในกระเป๋ากางเกง หรือเอากระเป๋าเป้ไว้ใกล้ตัว
- ลงทะเทียบทรัพย์สินกับ Immobilise ที่อังกฤษจะมีเว็บไซต์ Immobilise ซึ่งเป็นบริษัทที่จะช่วย Tracking ทรัพย์สินในกรณีที่ถูกขโมยหรือทำหายได้ หากน้อง ๆ นำของมีค่าไปลงทะเบียนไว้เมื่อสูญหายตำรวจในอังกฤษจะใช้ Database ของบริษัทตามหาของที่หายหรือถูกขายไปให้ได้คืนเร็วขึ้น ส่วนจักรยานก็สามารถลงทะเบียนได้ที่ The National Cycle ลงทะเบียนฟรีแต่มีค่าบริการเมื่อต้องการใช้งานค่ะ
หากของหาย โดนขโมยแล้วต้องทำอย่างไร ?
เมื่อรู้ตัวว่าของหายหรือถูกขโมยให้ใช้ Find my Device เพื่อติดตามหาของหรือโทร 101 ทันที ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับของที่หาย หมายเลขดิจิทัลที่ลงทะเบียนไว้หรือเลข IMEI พร้อมรูปถ่ายและข้อมูลอื่น ๆ เพราะยิ่งแจ้งเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ของกลับคืนมาก็ยิ่งสูงตาม
ป้องกันภัยคุกคามทาง
Cybercrime
ในยุคดิจิทัล อาชญากรรมทางไซเบอร์กำลังกลายเป็นภัยใกล้ตัวในหมู่น้อง ๆ นักเรียนอังกฤษ เพราะทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน จึงอาจทำให้นักศึกษาตกเป็นเหยื่อของอาชญากรทางไซเบอร์ได้ง่ายโดยเฉพาะการถูกหลอกให้โอนเงิน, ถูกแฮ็กและ Scams ฯลฯ
- ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก หลีกเลี่ยงการใช้ Password เก่าซ้ำอีกครั้งเพราะอาชญากรไซเบอร์อาจใช้มันเข้าถึงข้อมูลสำคัญของเราได้ เพื่อป้องกัน ‘ID theft’ หรือการขโมยข้อมูลเพื่อนำไปสวมรอยทำเรื่องไม่ดี และห้ามแชร์รหัส PIN ใดใดแก่คนอื่นเด็ดขาด
- รู้ตัวตนของคนที่คุยด้วย เมื่อมาเรียนต่อต่างประเทศ นักศึกษาอาจใช้แอปในการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้รวมถึงมิจฉาชีพด้วย ดังนั้นให้ระวังคนที่เราคุยด้วย แชร์รูปภาพต่าง ๆ ด้วยให้ดี เพราะมีกรณีที่ถูกนำข้อความหรือรูปภาพออกมาแบล็กเมลได้
- ระวัง ‘Phishing’ ให้ดี ที่อังกฤษก็มีการหลอกลวงคล้าย ๆ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดหนักในไทยค่ะ ซึ่งเรียกว่า Phishing โดยมิจฉาชีพในอังกฤษจะหลอกส่งลิงก์ อีเมล์ เว็บไซต์หรือโทรเข้ามาให้เรากดรับและเล่นเกมจิตวิทยาให้เราหลงเชื่อเพื่อให้เรายอมส่งข้อมูลส่วนตัวให้ แล้วนำไปทำเรื่องไม่ดี ดังนั้นน้อง ๆ ต้องเช็ก Link, Website, Email หรือแม้แต่ WiFi สาธารณะต่าง ๆ ให้ดีว่าน่าเชื่อถือไหม
- ตั้งค่าโพสต์ Social Media เป็นส่วนตัว ไม่โพสต์ที่อยู่หอพักนักศึกษาลงโซเชียลมีเดีย เพราะอาชญากรไซเบอร์จะมอนิเตอร์หาเหยื่อด้วยวิธีนี้ น้อง ๆ อาจไม่ปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและที่อยู่อาศัย ถูกตาม ถูกดักทำร้ายเพราะมิจฉาชีพรู้ที่อยู่ของน้อง ๆ แล้ว
หากรู้สึกว่ากำลังตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ทำอย่างไร ?
หากรู้ตัวว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ให้ตั้งสติแล้วรวบรวมหลักฐานทุกอย่างเพื่อให้ตำรวจตรวจสอบ หากรู้ account ของมิจฉาชีพให้กดรีพอร์ตทันที โดยที่อังกฤษมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้บริการเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ติดต่อที่เบอร์ 0300 123 2040 หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายโทร 999
ป้องกันที่พักให้ปลอดภัยจากโจร
Protect Your Accommadation
ไม่ว่าน้อง ๆ จะอยู่ Private Student Accommadation หรือหอพักในมหาลัยฯ ก็ไม่ควรประมาทเรื่องความปลอดภัยของที่พักค่ะ เพราะสถิติการงัดเข้าที่พักในอังกฤษค่อนข้างสูงเป็นอันดับที่ 5 ซึ่งผู้ร้ายย่องเบามักจะมองหาบ้านหรือหอพักที่หน้าต่างไม่ได้ล็อกมิดชิด โดยใช้บันไดปีนขึ้นไปขโมยของได้ ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Checklist ก่อนจองห้องพัก
- ล็อกประตู หน้าต่าง แม้ว่าหน้าต่างของหอพักนักศึกษาในอังกฤษบางที่จะเปิดได้แค่คืบเดียว แต่น้อง ๆ ก็ต้องเช็กให้ดีว่าหน้าต่างหอพักของตัวเองล็อกถูกต้องไหมทุกครั้งที่ออกจากห้อง ถ้าหน้าต่างหอพักเปิดได้เต็มบานอาจหาตัวล็อก (Sash Stop) มาติดตั้งเพื่อป้องกันอีกแรง
- Double ล็อกทุกครั้ง แค่ล็อกประตูอัตโนมัติอาจไม่เพียงพอ หากประตูหอพักนักศึกษาของน้อง ๆ มีล็อกสองชั้นด้วยกุญแจก็ควรล็อกทั้งสองแบบเพื่อความปลอดภัย 2 เท่า
- อย่าเปิดประตูให้คนที่ไม่รู้จัก ไม่เปิดประตูให้ใครก็ตามที่เราไม่รู้จัก ส่องดูก่อนเปิดประตูห้องให้ใครเข้ามา และเข้าห้องพักทุกครั้งควรมองซ้ายมองขวาว่ามีใครเดินตามมาหรือไม่ ทั้งประตูห้องและประตูใหญ่ บางทีมิจฉาชีพในอังกฤษอาศัยจังหวะที่เรายังไม่ทันล็อกห้องและผลักประตูเข้ามาได้ ดังนั้นควรรอให้คนเดินผ่านไปก่อน หรือรอให้ปลอดคนแล้วจึงค่อยเปิดประตูค่ะ
หากรู้สึกว่าถูกโจรขึ้นห้องพักต้องทำอย่างไร ?
หากรู้ว่ามีโจรกำลังขึ้นหอพักตอนที่เราไม่อยู่ให้ติดต่อ Security Team ของหอพักหรือโทร 999 แต่ถ้าเข้ามาในห้องพักแล้วพบว่าถูกโจรขึ้นห้อง อย่าเเตะต้องสิ่งของในห้องแล้วโทรหาตำรวจให้เข้ามาตรวจสอบ เสร็จแล้วสอบถามผู้ดูแลหอพักถึงประกันในกรณีที่ถูกโจรขึ้นห้องพักเพราะบางหอพักมักจะทำประกันประเภทนี้ไว้ เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง
อ่านมาถึงตรงนี้น้อง ๆ อาจเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัยกันใช่ไหมคะ ? เพราะรู้ดีว่าการหาหอพักนักศึกษาในอังกฤษให้ได้ก็ว่ายากแล้ว การจะหาหอพักนักศึกษาในอังกฤษที่ปลอดภัยอุ่นใจเหมือนได้อยู่บ้านเริ่มดูยากกว่า Peyton & Charmed เข้าใจปัญหานี้ดีที่สุดจากประสบการณ์ให้บริการจัดหาหอพักในอังกฤษมากว่า 20 ปี เราได้ช่วยเหลือน้อง ๆ นักเรียนอังกฤษมาหลายเคส ทุกรูปแบบ น้อง ๆ จึงมั่นใจได้ว่า เราเป็นมืออาชีพที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของที่พักและตัวน้อง ๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง ‘Because We Believe In Care And Trust’
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
LINE: @peytonandcharmed หรือคลิก👉🏻https://lin.ee/BswYkfQ
📞+ 6680 095 5555
www.peytonandcharmedaccomm.co.uk
ที่มาข้อมูล
https://www.met.police.uk/cp/crime-prevention/
https://www.met.police.uk/advice/advice-and-information/fa/fraud/online-fraud/cyber-crime-fraud/
https://www.met.police.uk/advice/advice-and-information/fa/fraud/online-fraud/
https://www.londonpolice.ca/en/crime-prevention/Crime-Prevention-Tips.aspx?_mid_=105058
https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=13&CONID=600